วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

การบริหารการมีส่วนร่วม


การบริหารแบบมีส่วนร่วม
วิวัฒนาการแนวคิดของการบริหาร อาจจะกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นตลอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เมื่อมีการปกครอง มีการผลิต และการใช้แรงงาน ยิ่งมนุษย์ต้องการเพิ่มผลผลิตทางธุรกิจโดยใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งขึ้นเท่าใด แนวคิดทางการบริหารหรือการจัดการยิ่งสลับซับซ้อน ลุ่มลึก ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น การบริหารในปัจจุบัน หรือจะเรียกว่าการบริหารสมัยใหม่ จึงได้นำแนวคิดเชิงมนุษย์สัมพันธ์ด้วยการบริหารและตัดสินใจ โดยยึดหลักด้านจิตใจของการทำงาน เพื่อที่จะได้ทั้งมือ หัวใจ และความคิด โดยการให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการบริหาร
การเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการบริหาร จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความรู้สึกเกี่ยวข้องผูกพันกับงานหรือองค์การ ความรู้สึกเกี่ยวข้องผูกพันนี้หากได้มีการตัดสินใจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดร่วมกันแล้ว จะเป็นผลให้เกิดข้อผูกมัด หรือสิ่งที่ตกลงใจร่วมกัน ด้วยเหตุนี้การบริหารโดยการมีส่วนร่วมจึงมีลักษณะ ดังนี้
1. เป็นกระบวนการของการให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการตัดสินใจ
2. เป็นการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของบุคคล
3. ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาของการบริหาร
4. การบริหารโดยการมีส่วนร่วมตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดของการแบ่งอำนาจหน้าที่ที่ผู้บริหารมีให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา
5. ต้องการให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องอย่างแท้จริงในกระบวนการตัดสินใจที่สำคัญขององค์กร มิใช่เพียงแต่ห่วงใยหรือสัมผัสปัญหาเท่านั้น
ความจำเป็นในการบริหารแบบมีส่วนร่วม
การบริหารแบบมีส่วนร่วมมีความจำเป็นต่อการบริหารงานในปัจจุบันเพราะ
1. จะเกิดความเป็นประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ ความมีประสิทธิผลเกี่ยวข้องกับความเหมาะสมและความสำเร็จของเป้าหมาย ส่วนความมีประสิทธิภาพเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายของความสำเร็จตามเป้าหมาย หรืออาจกล่าวได้ว่า ประสิทธิภาพ คือ อัตราส่วนระหว่างผลผลิตและปัจจัยการผลิต
การบริหารแบบมีส่วนร่วมช่วยให้ผู้บริหารและหน่วยงานมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ เชิงความคาดหวังว่า
1) เพิ่มคุณภาพของการตัดสินใจทางการบริหารให้ดีขึ้น
2) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลูกจ้างให้ดีขึ้น
3) เพิ่มขวัญและความพอใจในงานของลูกจ้างให้ดีขึ้น
4) ช่วยให้องค์กรตอบสนองต่อความต้องการของสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น
2. ทำให้พฤติกรรมของบุคคลสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กร กล่าวคือ การบริหารแบบมีส่วนร่วมช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กร โดยการปฏิบัติงานและขวัญของแต่ละบุคคล เพราะบุคคลและความคาดหวังขององค์กรมีความขัดแย้ง สร้างความคับข้องใจและเป็นผลเสียแก่ทุกฝ่าย แต่การบริหารโดยการมีส่วนร่วมสามารถคลี่คลายข้อขัดแย้งดังกล่าวได้ เพราะการที่ให้โอกาสแก่บุคคลในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจขององค์กรพวกเขา สามารถควบคุมการทำงานของพวกเขาเองในการใช้ความสามารถและสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้
1 “ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายจัดการกับพนักงาน” การแรงงานสัมพันธ์พื้นฐาน กองแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
3. ช่วยสร้างแรงจูงใจ การบริหารแบบมีส่วนร่วมสนองความต้องการทางจิตใจตามทฤษฎีการจูงใจของมาสโลว์ (Needs Hierachy Theory) และทฤษฎีการจูงใจของเฮอร์ซเบอร์ก (Motivation Hygiene Theory) เพราะการตอบสนองโดยวิธีการต่าง ๆ นั้น ยังขาดการตอบสนอง “การมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นสิ่งจูงใจ ที่แท้จริงไป
ดังนั้น โอกาสการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เป็นการตอบสนองความต้องการ ความสมหวัง ความเชื่อถือตนเอง อันเป็นความต้องการสูงสุดของมนุษย์ได้
ประโยชน์ของการบริหารแบบมีส่วนร่วม
1. การมีส่วนร่วมทำให้เกิดความคิดได้มากกว่า เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกได้ระดมความคิดและอภิปรายร่วมกัน ดังนั้น การที่จะได้ความคิดดี ๆ ในการปฏิบัติงานจึงมีความเป็นไปได้มากกว่าการคิดเพียงคนเดียว
2. การมีส่วนร่วมในการบริหารมีผลในเชิงจิตวิทยา คือ ทำให้การต่อต้านลดน้อยลง ในขณะเดียวกันก็จะเกิดการยอมรับมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีที่ผู้บริหารสามารถใช้ทดสอบดูว่าสิ่งที่ตนเองรู้ตรงกับสิ่งที่ผู้ร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชารู้หรือไม่
3. เปิดโอกาสให้มีสื่อสารแบบเปิด สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน ตลอดจนการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
4. ผู้ร่วมงานจะมีโอกาสได้ใช้ความสามารถและทักษะในการทำงานร่วมกัน เกิดความมีน้ำใจ (Team spirit) และความจงรักภักดีต่อองค์กร (Loyalty) มากขึ้น
5. การมีส่วนร่วมจะทำให้ผลการปฏิบัติงานดีขึ้น การตัดสินใจมีคุณภาพมากขึ้น ส่งเสริมให้การปรับปรุงงานมีความเป็นไปได้สูงขึ้น ตลอดจนผู้ร่วมงานมึความพึงพอใจในการปฏิบัติงานมากขึ้นด้วย






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น